ฉลากโภชนาการแบบ GDA ตัวช่วยของคนลดน้ำหนัก

อาหารทุกชนิดมีคุณค่าทางอาหารแตกต่างกันไป หากเราเลือกรับประทานให้เหมาะสมกับความต้องการของ เพศ วัย สุขภาพ สภาพร่างกาย และกิจกรรมของแต่ละคน ดังนั้นการที่เราจะทราบได้ถึงคุณค่าทางอาหารของอาหารเแต่ละชนิดได้นั้น การอ่านฉลากโภชนาการ จะช่วยให้เราทราบถึงข้อมูลสารอาหารต่างๆที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารชนิดนั้น ทั้งปริมาณพลังงาน และสารอาหารที่เป็นประโยชน์ อย่างโปรตีน คาร์โบไฮเดรตเพื่อใช้ในการทำงานของร่างกาย และยังสามารถช่วย ให้เราทราบถึงพลังงานส่วนเกินอื่นๆอย่าง ไขมัน และ น้ำตาล ที่แฝงมากับผลิตภัณฑ์อาหารอีกด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นี่เองที่จะทำให้เราสามารถจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหว และออกกำลังกายได้สอดคล้อง เช่นการออกกำลังกาย เพื่อรักษาสมดุลของปริมาณพลังงานทั้งรับเข้าและใช้ออก ทำให้เราสามารถรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ และมีสุขภาพดีอีกด้วย

ผลเสียหากเราไม่ใส่ใจในการอ่านฉลากโภชนาการ

การที่เราละเลยการอ่านฉลากโภชนาการจะทำให้เราอาจได้รับพลังงานและสารอาหารเกินความจำเป็น อาจจะทำให้ทานมากเกินไป และเมื่อเรารับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกายเป็นประจำแล้ว จะทำให้น้ำหนักของเราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั้นหมายถึง เป็นการเพิ่มโอกาสการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCD) ซึ่งได้แก่ โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคข้อต่ออักเสบ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ และโรคมะเร็งบางชนิด ซึ่งเราก็สามารถประเมินภาวะโภชนาการเบื้องต้นด้วยตนเอง ด้วย 2 วิธีที่ง่ายๆ ได้แก่

การหาค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
การวัดเส้นรอบเอว โดยรอบเอวขนาดเป็นเซนติเมตรจะต้องไม่เกินค่า ความสูงของตนเอง หารด้วย 2

ในปัจจุบัน ฉลากโภชนาการแบบย่อ และแบบเต็ม มีรายละเอียดมาก ทำให้ผู้บริโภคอ่านเข้าใจยาก และมีขนาดเล็ก ข้อมูลไม่ชัดเจน ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จึงมีแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงฉลากโภชนาการให้เข้าใจง่าย โดยปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของฉลากโภชนาการแบบ จีดีเอ บนฉลากนอกกรอบข้อมูลโภชนาการ กำหนดให้อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด ต้องแสดงฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ โดยนำค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม มาแสดงที่ฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน และอ่านง่าย ตามรูปแบบที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด (ฉบับที่ 2) ซึ่งประกาศฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554 หากไม่ปฏิบัติตามประกาศ มีโทษปรับ 30,000 บาท และอาหารนอกเหนือจาก 5 ชนิดนี้ที่มีความประสงค์จะแสดงฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ ต้องปฏิบัติตามรูปแบบประกาศฉบับนี้เท่านั้น

ฉลากโภชนาการ แบบ GDA คืออะไร

ฉลาก GDA (Guideline Daily Amount) หรือฉลากหวาน มัน เค็ม เป็นฉลากนอกกรอบขนาดเล็กที่จะแสดงข้อมูลโภชนาการ โดยแสดงค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี่) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม) มาแสดงที่ฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน และอ่านง่าย โดยบังคับให้อาหารสำเร็จรูปพร้อมทานต้องแสดงฉลากนี้ ซึ่งได้แก่

มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ
ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ
ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง
ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต
เวเฟอร์สอดไส้


ซึ่งหากเราอยู่ในช่วงควบคุมน้ำหนัก ก็ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีพลังงานน้อยๆ หรือ หลีกเลี่ยงสารอาหารที่ไม่ต้องการบางอย่าง อย่างไขมัน น้ำตาล และโซเดี่ยม ซึ่งฉลากโภชนาการนี้จะทำให้สามารถเปรียบเทียบเพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารชนิดเดียวกันโดยเลือกยี่ห้อที่มีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่าได้

 


ฉลากโภชนาการแบบ GDA ตัวช่วยของคนลดน้ำหนัก

ฉลาก GDA อ่านอย่างไร

รูปแบบของฉลากหวาน มัน เค็มจะเป็นเป็น 4 ส่วนหลักๆได้แก่

ส่วนที่ 1 จะบอกให้ทราบถึงคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ พลังงานรวม ที่จะได้รับจากการบริโภคอาหารสำเร็จรูปปริมาณ 1 ซอง
ส่วนที่ 2 บอกให้เราทราบถึงปริมาณที่เหมาะสมในการแบ่งรับประทาน เพื่อความเหมาะสมควรแบ่งรับประทานเป็นครั้งๆละเท่าๆกัน
ส่วนที่ 3 บอกให้ทราบว่า เมื่อบริโภคทั้งซอง จะได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียมปริมาณเท่าไร เช่น จะได้รับพลังงาน 1,120 กิโลแคลอรี น้ำตาล 7 กรัม ไขมัน 63 กรัม และโซเดียม 980 มิลลิกรัม ทั้งนี้ หากรับประทานไม่หมดซองจะได้รับ พลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียม น้อยลงตามลำดับ เช่น รับประทานครึ่งซองจะได้รับพลังงาน 560 กิโลแคลอรี่ เป็นต้น
ส่วนที่ 4 และส่วนที่ 5 บอกให้ทราบว่าเมื่อรับประทานหมดทั้งซอง จะได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียม คิดเป็นร้อยละเท่าไรของปริมาณสูงสุดที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน โดยใน 1 วัน ( ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะวางค่าไว้ที่ 2000 แคลอรี่ต่อวัน ) โดยควรจำกัดการบริโภคพลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียม ไม่ควรเกิน 100%


ฉลากโภชนาการแบบ GDA ตัวช่วยของคนลดน้ำหนัก

สูตรคำนวนหาพลังงานที่ได้รับคิดเป็นเปอร์เซ็นต์

สูตรคำนวนพลังงานคิดเป็นเปอร์เซ็น ทั้งนี้ ปริมาณสูงสุดที่แนะนำให้บริโภคใน 1 วัน ของสารอาหารที่แสดงแต่ละตัวมีดังนี้

พลังงานรวม เฉลี่ยไม่ควรเกิน 2,000 กิโลแคลอรี่
น้ำตาล ไม่ควรเกิน 65 กรัม
ไขมันไม่ควรเกิน 65 กรัม
โซเดียม ไม่ควรเกิน 2,300-2,400 มิลลิกรัม
เพื่อป้องกันการรับประทานอาหารที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ที่มาพร้อมกับความอ้วน ก่อนรับประทานอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคพร้อมทาน ขนมห่อต่างๆ เราควรอ่านฉลากหวาน มัน เค็ม ก่อนรับประทานอาหารกันดีกว่า


ฉลากโภชนาการแบบ GDA ตัวช่วยของคนลดน้ำหนัก

ที่มา lovefitt


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์