เมตาบอลิกซินโดรมเพชรฆาตรอบเอว

สวัสดีเช้าวันจันทร์ครับ วันนี้หมอหล่อคอเล่าขอหยิบเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่ใกล้ตัวเราอีกเรื่องหนึ่งมาเล่าให้ฟังกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับ #ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม ซึ่งทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษที่เขียนว่า Metabolic syndrome นั่นเอง บางท่านอาจจะบอกว่า ทำไมไม่ใช้คำว่า โรคอ้วนลงพุง หรือ กลุ่มอาการอ้วนลงพุง สาเหตุมาจาก ภาวะนี้ไม่ได้มีเเค่เรื่องของอ้วนลงพุงอย่างเดียวยังมีความผิดปกติอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องด้วย และชื่อนี้ก็ได้รับการยอมรับและใช้ในหลายงานวิจัยครับ บางท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับภาวะนี้มาแล้วบ้าง แต่ถ้าใครยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร วันนี้มาหาคำตอบให้นะครับ

 ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม คือ กลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular diseases) และ โรคเบาหวาน (Type 2 diabetes Mellitus) ที่ฮอตฮิตติดตลาดโรคประจำตัวในบ้านเราและทั่วโลก พบร่วมกันได้บ่อย ได้แก่ 
-> ภาวะไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemias) 
-> ความดันโลหิตสูง (Hypertension) 

-> ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือ ภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน
(Impaired fasting glucose or Insulin resistance) 

ความน่ากลัว ก็คือ #เมตาบอลิกซินโดรม #เป็นต้นเหตุของโรคที่เป็นสาเหตุการตายมากที่สุดของมนุษย์ในปัจจุบัน ได้แก่ 
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus) และ
- โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular diseases) เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบและแตก เป็นต้น
.
 เราจะทราบได้อย่างไรว่าเรามีภาวะเมตาบอลิกซินโดรม ? 

ปัจจุบันเราใช้ #เกณฑ์การวินิจฉัย ที่ได้มาจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาสรุปร่วมกันครับ (Harmonizing the Metabolic Syndrome : A Joint Interim Statement of the International Diabetes Federation Task Force on Epidemiology and Prevention; National Heart, Lung, and Blood Institute; American Heart Association; World Heart Federation; International Atherosclerosis Society; and International Association for the Study of Obesity 2009)

การวินิจฉัยภาวะเมตาบอลิกซินโดรม จะต้องมีความผิดปกติอย่างน้อย 3 ข้อใน 5 ข้อ คือ (ต้องมี 3 ข้อต่อไปนี้ขึ้นไป) ต่อไปนี้ ได้แก่
 1) ขนาดเส้นรอบวงเอวที่เป็น #ภาวะอ้วนลงพุง (abdominal obesity) คือ 
- เส้นรอบวงเอว ≥ 90 ซม.ในผู้ชาย หรือ ≥ 80 ซม.ในผู้หญิง) (WHO Expert Consultation, 2004) หรือ 
- ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ที่ ≥ 25 
 
 2) ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ≥ 150 มก./ดล.

 3) ระดับ HDL cholesterol < 40 มก./ดล.ในผู้ชาย หรือ < 50 มก./ดล. ในผู้หญิง หรือ กำลังรับประทานยาที่เพิ่ม HDL อยู่ เช่นกลุ่มยาลดคอเลสเตอรอล หรือ ไตรกลีเซอไรด์ เป็นต้น 

 4) ค่าระดับความดันโลหิต 
- Systolic ≥ 130 และ/หรือ 
- Diastolic ≥ 85 มม.ปรอท หรือ 
- กำลังรับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่ 
(เกณฑ์การวินิจฉัยความดันโลหิตสูงตอนนี้ คือ BP ≥ 140 และ/หรือ ≥ 90 มม.ปรอท (JNC 8))

 5) ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (ค่าน้ำตาลที่เรางดน้ำงดอาหารไปตรวจที่ รพ. กันนั่นเเร่ะครับ) ≥ 100 มก./ดล.หรือ กำลังใช้ยารักษาเบาหวานอยู่

จะเห็นว่า การที่เราจะรู้ว่าเราเป็นเมตาบอลิกซินโดรมหรือไม่ ? จำเป็นที่จะต้องมาตรวจเลือดดูก่อนนะครับ เพื่อให้ทราบว่าเรามีความเสี่ยงต่าง ๆ ที่พูดมาหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่มักไปด้วยกันก็คือ ถ้าเรา #อ้วน (โดยเฉพาะ #อ้วนลงพุง) ค่าเลือดอื่น ๆ ก็มักจะผิดปกติไปด้วยเสมอ เพราะไขมันที่เพิ่มมากขึ้นในร่างกายจะส่งผลเสียในทุก ๆ ด้าน และในที่สุดก็เป็นเมตาบอลิกซินโดรมนั่นเอง 

ดังนั้น การป้องกันไม่ให้ตัวเราอ้วน หรือ มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไปนั้น จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีในการป้องกันการเกิดโรคร้ายต่าง ๆ เหล่านี้นั่นเอง สำหรับใครที่กำลังเป็นอยู่ก็ควรติดตามการรักษากับคุณหมอต่อไปนะครับ หากมีโรคอื่รน ๆ ร่วมก็รักษาโรคนั้นไปให้ดีและสิ่งที่สำคัญคือ การปรับเปลี่ยน 
 Lifestyle ของเราให้ดีขึ้น ลดไขมันให้ได้ กิน อยู่ หลับนอน อย่างมีคุณภาพก็จะช่วยได้มากเลยครับ

เมตาบอลิกซินโดรมเพชรฆาตรอบเอว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี อัมรินทร์TV


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์