รูปร่างผอม แต่อาจมีโรคร้ายซ่อนอยู่
ไม่ว่าจะมีรูปร่างแบบไหน การตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงโรคและการดูแลสุขภาพองค์รวมถือเป็นเรื่องสำคัญ กรณีพบค่าสุขภาพปกติหรือแม้ผิดปกติแต่ยังไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ก็ควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมีความเสี่ยงต่อการป่วยที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังและอาการต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันพอกตับ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคมะเร็งต่างๆ
แต่คนผอมก็ใช่ว่าจะสุขภาพดี ห่างไกลโรคภัยเสมอไป ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อตรวจร่างกายอาจพบว่ามีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และกระดุกพรุนได้เช่นกัน
สาเหตุของความผอมองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้ดัชนีมวลกาย (BMI) เป็นเกณฑ์ในการคัดกรองผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน เกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วนได้ ในผู้ใหญ่ชาวเอเชียที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป หากมีค่า BMI 18.5 - 22.90 แสดงว่า น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากน้อยกว่า 18.5 แสดงว่า อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
ผู้มีภาวะผอม อาจมีสาเหตุแตกต่างกันไป เช่น
พันธุกรรม บางคนมีค่าดัชนีมวลกายต่ำตามธรรมชาติ เนื่องจากลักษณะทางกายภาพภายในครอบครัว
เมตาบอลิซึมสูง การมีระบบเผาผลาญพลังงานสูงอาจเป็นสาเหตุของความผอม
การออกกำลังกายเป็นประจำ นักกีฬาหรือผู้ที่ทำกิจกรรมทางกายภาพในระดับสูง เช่น นักวิ่ง
โรคทางกายหรือโรคเรื้อรัง เช่น มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน
ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือโรคอะนอเร็กเซีย (anorexia) และบูลิเมีย (bulimia)
คนผอมก็เสี่ยงโรค
โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะในคนอ้วนเท่านั้น คนที่มีรูปร่างผอมเพรียวก็อาจตรวจพบโรคต่างๆ ได้เช่นกัน ซึ่งอาจเกิดมาจากพันธุกรรมเป็นตัวกำหนด และอาจไม่สัมพันธ์กับน้ำหนักตัวเลยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น
ผอมแต่ ไขมันในเลือดสูง
ไขมันในร่างกายประกอบด้วย ไขมันในหลอดเลือด ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง และไขมันในช่องท้อง ซึ่งมาจากอาหารที่รับประทานและจากที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเอง ทั้งนี้ โรคไขมันในเลือดสูง ทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ตีบ และอุดตัน ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต การมีคุณภาพชีวิตลดลง และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
แม้โรคไขมันในเลือดสูงจะพบมากในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน แต่คนผอมก็มีปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน เนื่องจากคนผอมบางกลุ่มมีพันธุกรรมหรือยีนที่รับประทานอย่างไรก็ไม่อ้วนแต่ร่างกายก็ยังกักเก็บไขมันไว้ในกระแสเลือด หรืออาจเป็นกลุ่มคนผอมที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรม
คนผอมก็เป็นความดันโลหิตสูงได้
ค่าความดันโลหิตปกติ ตัวบนไม่ควรเกิน 120 มม.ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท สำหรับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ค่าใหม่ อ้างอิงตามคำแนะนำจากสมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกาปี 2017 คือ 130/80 มม.ปรอทขึ้นไป ทั้งนี้ โรคความดันโลหิตสูง เป็นกลุ่มโรคที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรกส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติ แต่ตรวจพบโดยการตรวจสุขภาพประจำปี หรือเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ มาก่อน โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุที่มากขึ้นตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะวัยหลังหมดประจำเดือน มีความเครียดและวิตกกังวลสูง รวมถึงมาจากพันธุกรรมมากถึง 30-40 % โดยพบว่าผู้ที่มีบิดาและมารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูงมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่บิดามารดาไม่ได้เป็นโรค
จะเห็นได้ว่าการมีค่าความดันโลหิตสูงนั้นไม่สัมพันธ์กับน้ำหนักตัวแต่อย่างใด คนอ้วนหรือผอมก็สามารถตรวจพบโรคความดันโลหิตสูงได้ ซึ่งการรักษานั้นหากปรับเรื่องการดำเนินชีวิตและอาหารแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาความคุมความดันที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด
คนผอมกับโรคไทรอยด์ อาการเป็นอย่างไร
ต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่ผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งฮอร์โมนไทรอยด์นั้นช่วยควบคุมการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย ระดับอุณหภูมิของร่างกาย ระดับไขมันในเลือด โดยในกรณีของผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย อาจเกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ (Hyperthyroid) หรือเรียกว่าภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่อร่างกาย
โดยแสดงอาการได้หลากหลาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ในเพศหญิงอาจประจำเดือนมาผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจ รวมถึงภาวะกระดูกบาง เนื่องจากแคลเซียมในเลือดสูงกว่าปกติ จนกลายเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มได้อีกด้วย สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคไทรอยด์เป็นพิษ สามารถทำได้ด้วยการเจาะเลือดเพื่อการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ได้แก่ ไทรอกซีน (Thyroxine -T4) ไตรไอโอโดไธโรนีน (Triiodothyronine- T3) และแคลซิโทนิน (Calcitonin) รวมถึงการอัลตร้าซาวด์ต่อมไทรอยด์
น้ำหนักตัวน้อย อาจเกี่ยวกับความหนาแน่นของมวลกระดูก
คนที่น้ำหนักน้อยหรือผอมมักมีความเสี่ยงต่อการมีค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนตามมาได้ การวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อรู้เท่าทันและป้องกันโรคกระดูกพรุนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการมีน้ำหนักตัวน้อย โดยผลตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone Mineral Density - BMD) มีค่าเป็น ที-สกอร์ (T-score) หากอยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 แสดงว่ามีภาวะกระดูกบาง หากมีค่าต่ำกว่า -2.5 แสดงว่าเป็นโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน เป็นภัยเงียบที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุน เนื่องจากไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็น จนกระทั่งล้มแล้วกระดูกหัก สาเหตุของโรคมาจากการสูญเสียมวลกระดูก ส่งผลให้กระดูกเปราะและหักง่ายกว่าคนทั่วไป เพียงหกล้มหรือมีแรงกระแทกเบาๆ ไอหรือจาม ก็อาจให้กระดูกสะโพกหรือกระดูกสันหลังหัก ทำให้พิการหรือทุพพลภาพ และมีคุณภาพชีวิตลดลงได้ ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนและควรตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกอยู่เสมอ เช่น ผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนอายุประมาณ 50 ปี และผู้ที่มีน้ำหนักน้อย คือ มีค่า BMI น้อยกว่า 20
อยากผอมแบบปลอดโรคต้องทำอย่างไร
ไม่ว่าจะมีรูปร่างแบบไหน การตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงโรคและการดูแลสุขภาพองค์รวมถือเป็นเรื่องสำคัญ กรณีพบค่าสุขภาพปกติหรือแม้ผิดปกติแต่ยังไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ก็ควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งหมายถึงการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง โดยยึดหลัก "4อ" ดังนี้
อิ่มกาย - การดูแลด้านการออกกำลังกายในแบบเฉพาะบุคคล โดยมีการประเมินก่อนการออกกำลังกายโดยแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจและด้านกีฬา มีการใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย อาทิเช่น เครื่อง Isokinetic รวมถึงการดูแลต่อเนื่องโดยนักเวชศาสตร์การกีฬา เพื่อสุขภาพที่ดีแบบยั่งยืน
อิ่มอารมณ์ - การดูแลด้านอารมณ์และจิตใจโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง เพราะเมื่อสุขภาพกายดีแล้ว ต้องไม่ลืมดูแลสุขภาพใจด้วยเช่นกัน
อิ่มนอน - การดูแลด้านการนอนหลับ ซึ่งหากมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับไม่มีคุณภาพ หรือนอนกรน ก็ควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมกับปัญหาการนอนหลับที่เผชิญอยู่ได้
เครดิตแหล่งข้อมูล : samitivejhospitals