1.การกินอาหารให้ครบ 3 มื้อ
อาหารมื้อเช้าหรือมื้อกลางวันจะต้องให้พลังงานกับร่างกายมากกว่ามื้อเย็น อาหารเช้าจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า มีสมาธิทั้งในการเรียนและการทำงาน ผู้ที่กินอาหารเช้าทุกวัน จะมีโอกาสเกิดภาวะอ้วน และโรคเบาหวานน้อยกว่าผู้ที่ไม่กินอาหารเช้าถึงร้อยละ 35-50 อาหารเช้าที่เหมาะสมนั้น ควรมีค่าพลังงานและสารอาหารอย่างน้อย 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 ของปริมาณที่ควรจะได้รับตลอดวัน ส่วนมื้อกลางวันและมื้อเย็นควรอยู่ที่ร้อยละ 35 และร้อยละ 30 ตามลำดับ และที่เหลือเป็นอาหารว่าง ร้อยละ 10
2. หลีกเลี่ยงอาหารว่างหรืออาหารระหว่างมื้อ
อาหารระหว่างมื้อนี้ไม่มีความจำเป็นต่อผู้ใหญ่ทั่วไป ยกเว้นในเด็กที่ต้องการการเจริญเติบโตและในคนบางกลุ่มที่อาจมีปัญหาในการย่อยและดูดซึมที่ต้องกินอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น อาหารว่างระหว่างการประชุมเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราได้รับพลังงานมากเกินไป ควรระวังไม่ดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มประเภทมอลต์รสช็อกโกแลตมากเกินไป โดยเฉพาะที่เป็นเครื่องดื่มปรุงสำเร็จประเภท "ทรีอินวัน" ซึ่งจะให้พลังงานมากกว่าการชงดื่มเอง
3.อาหารไขมัน ตัวการความอ้วน
สารอาหารที่ให้พลังงานกับร่างกายสูงมากที่สุดคือไขมัน ซึ่ง 1 กรัมของไขมันให้พลังงานมากถึง 9 กิโลแคลอรี การลดการกินไขมันลง จะช่วยควบคุมไม่ให้ได้รับพลังงานเกินความต้องการได้ จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด หรือผัดที่มีการใช้น้ำมันมากๆ นอกจากนี้ยังต้องระวังไม่กินอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากเกินไปด้วย ปรับเปลี่ยนวิธีการประกอบอาหารเป็นการต้ม นึ่ง ย่าง แทนการทอด ผัด อาหารที่มีไขมันอีกชนิดที่ต้องระมัดระวังด้วย คือ ส่วนประกอบของเนย นม ไข่แดง กะทิ เช่น ผลิตภัณฑ์เบเกอรีต่างๆ จำพวก เค้ก คุกกี้ พาย น้ำสลัด ไอศกรีม เป็นต้น