กลไกของความหิว
อาการหิว เป็นสัญญาณทางประสาท ที่เตือนว่าร่างกายต้องการอาหารเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน ตามกลไกของร่างกาย เมื่อท้องว่าง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า เกรลิน (ghrelin) ออกมา เพื่อสั่งการไปยังสมองว่าเรากำลังหิว โดยจะแสดงออกทางกายภาพได้หลายอย่าง เช่น ท้องร้อง มวนท้อง อ่อนแรง มือสั่น และเมื่อเราได้รับอาหาร และน้ำเข้าไปจนเต็มกระเพาะ ร่างกายก็จะหยุดหลั่ง ฮอร์โมน เกรลิน (ghrelin) และ หลั่งฮอร์โมนอีกตัวที่ชื่อว่า เลปติน ( leptin) เพื่อบอกว่าเราอิ่มแล้ว
แยกไม่ออกว่าหิว หรือ แค่กระหายน้ำ
หลายครั้งที่เกิดความสับสนระหว่างความหิว และ อาการกระหายน้ำ ความรู้สึกอยากทานอะไรสดชื่นๆ และจบลงที่ขนม หรือ ของว่างพลังงานสูง แต่ก็ยังไม่หายหิวอยู่ดี นั่นเป็นเพราะร่างการอาจจะแค่กระหายน้ำไม่ได้หิวอย่างที่เข้าใจ ถ้ามีอาการแบบนี้ แนะนำให้เริ่มจากการดื่มน้ำเปล่าลงไปก่อน ถ้าหากยังมีอาการหิว ค่อยหาอาหารมื้อหลักที่มีประโยชน์มาทาน หรือให้เลือกเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานต่ำมาดื่ม
นอกจากความหิวตามกลไกของร่างกายแล้ว ความหิวอาจมาจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีก ทั้งปัจจัยทางสุขภาพ อารมณ์ และสังคม สำหรับคนที่หิวบ่อยๆ ลองตรวจเช็กดูว่าความหิวที่มากเกินการควบคุมนั้นมาจากสาเหตุอะไร และควรแก้ไขอย่างไร
ปัจจัยความหิวที่มาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง
เคยไหมที่ทานอาหารบางประเภทแล้วรู้สึกว่าอิ่มได้ไม่นาน เผลอแปร้บเดียวก็หิวอีกแล้ว ความหิวแบบนี้ มีสาเหตุมาจากอาหารที่ทานเข้าไปนั้นทำให้หิวมากขึ้น และหิวเร็วขึ้น