กินคลีนแต่พอดี ความอ้วนไม่เข้าใกล้ งงใช่ไหมล่ะ ว่าคุณกินแต่แผ่นกะหล่ำทอดกรอบกับดื่มแค่สมูธตี้แล้วน้ำหนักขึ้นได้ยังไง ทั้งนี้ก็เพราะของกินเล่นเพื่อสุขภาพเหล่านี้กลายมาเป็นอาหารที่คุณขาดปากไม่ได้ไปแล้วน่ะสิ ถึงเวลาปรับพฤติกรรมแล้วนะ
กินมากไปก็ให้ผลเสียแทนนะ
“วันนี้คุณกินไปกี่รอบแล้วล่ะ” อันที่จริงคุณน่าจะตอบคำถามนี้ได้ทันทีเลยนะ แต่กับคนอีกหลายคนกลับไม่ใช่เรื่องง่ายแบบนั้น เพราะไหนจะลูกเกดที่คว้าเข้าปากตอนอยู่ในรถ แล้วยังมีโยเกิร์ตที่กินตอนประชุมช่วงเช้าอีก แถมด้วยป๊อปคอร์นตอนบ่ายสอง ผสมโรงด้วยแท่งกราโนล่าตอนสี่โมงเย็น...ตายล่ะ ที่เป็นแบบนี้เพราะเราตั้งเป้าไว้ว่าจะกินอาหารเพื่อสุขภาพและลดปริมาณของแคลอรี่ลง จึงทดแทนอาหารมื้อหลักสามมื้อด้วยของว่างประปราย แต่ปัญหาคือ เรากินจุบจิบมากเกินไปน่ะสิ งานวิจัยชิ้นหนึ่งค้นพบว่าคนทั่วไปหยิบของว่างเข้าปากบ่อยถึง 15 ครั้งตลอดระยะเวลา 15 ชั่วโมง
เซอร์ไพรส์ไหมล่ะ เมื่องานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้แถลงไขว่าการกินแบบมาราธอนไม่เกี่ยวกับความหิวแม้แต่น้อย “สาวๆ ควรเรียนรู้การกินอาหารว่างอย่างถูกวิธี” แพทย์หญิงลิซ่า ยัง ผู้เขียน The Portion Teller Plan กล่าว "แต่การกินเยอะเกินไปเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ไม่เว้นแม้แต่อาหารเพื่อสุขภาพ” เรื่องนี้ฮือฮากันยกใหญ่เมื่อรู้ว่าอาการปากไม่เคยว่างนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้
ยุครุ่งเรืองของขนม
การกินสามมื้อหลักต่อวันคิดค้นขึ้นเพื่อตอบสนองชั่วโมงทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ก่อนช่วงปี 1950 ของว่างเป็นอะไรที่ไกลตัวพอๆ กับคำว่า ‘วันหยุดนักขัตฤกษ์’ นายแพทย์แบร์รี่ ป๊อปกิน ศาสตราจารย์ด้านโภชนาการประจำมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลน่าแห่ง Chapel Hill ขยายความว่า “สมัยโบราณการกินของว่างจะมีขึ้นเฉพาะโอกาสพิเศษเท่านั้น อย่างเช่น เค้กวันเกิด”
ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการจำนวนมากเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า การรับประทานอาหารวันละสามมื้ออาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะคนเรามักกินเต็มคราบ พอถ่ายของเสียที่ปนกลูโคสออกมา อินซูลินในร่างกายจะปรวนแปร เดี๋ยวพุ่งขึ้นเดี๋ยวลดลง เป็นสาเหตุให้เราหิวอีกรอบทันที
การหม่ำของว่างแค่บางโอกาส หรือกินทีละนิดช่วยลดความหิวกระหายและรักษาน้ำตาลในเลือด รวมถึงระดับพลังงานให้คงที่ได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับอาหารจากร้านสะดวกซื้อทั่วไปซึ่งหามากินได้ตลอดเวลา ตารางกินอาหารปกติของคุณจะรวนไปหมด
เปิดปากให้กว้าง
ตอนเผลอตัว เรามักจะกินของว่างเหล่านี้เยอะและถี่ขึ้นเรื่อยๆ ที่สุดก็กลายเป็นนิสัยและความเคยชิน “เมื่อเราหยิบของเข้าปากตลอดเวลา เราจะไม่ทันสังเกตว่ากินอะไรเข้าไปบ้าง มากน้อยแค่ไหน” คุณหมอลิซ่ากล่าว ผลสำรวจล่าสุดของ Nielsen พบว่าเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของการกินไม่หยุดไม่ได้วางแผนล่วงหน้ามาก่อน แม้คุณจะอ้างว่า เลือกแต่เมนูที่กินแล้วดีต่อสุขภาพทั้งนั้น แต่การกินบ่อยๆ จะทำให้คุณเสียการควบคุมปริมาณแคลอรีที่ได้รับในที่สุด
แน่นอน ปริมาณแคลอรีที่ได้รับจากขนมต้องเพิ่มตามไปด้วย จากที่ในหนึ่งวัน เราอาจรับเข้าไปน้อยกว่า 300 แคลอรีในช่วงปี 1970 ปัจจุบันพุ่งขึ้นแตะระดับ 450 แคลอรี ความแตกต่างเพียงแค่นี้ส่งผลต่อน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นถึง 7.2 กก.ต่อปีเลยนะ!