แอลคาร์นิทีน (L-carnitine) จำเป็นไหมกับการลดความอ้วน
จากกระแสโฆษณาที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อการลดน้ำหนักที่มีมากมายหลายสูตรในตอนนี้ ที่ผู้ผลิตทำออกมาให้เลือกใช้ในหลากหลายรูปแบบทั้งแบบเม็ด แบบน้ำ หรือผสมในเครื่องดื่มต่างๆนั้น หนึ่งในสารตัวนึงที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นดาวเด่นในวงการตอนนี้ นั้นก็คือ แอล-คาร์นิทีน (L-Canitine) ที่ส่วนมากจะเน้นสรรพคุณในการดึงไขมันเก่ามาใช้ เป็นตัวเร่งให้การลดน้ำหนักนั้นง่ายขึ้น ฟังดูเหมือนง่ายและดีใช่ไหม? แต่ก่อนจะไปเลือกซื้อเลือกหามาทานกัน เราควรจะทราบกันก่อนว่าเจ้า แอล-คาร์นิทีน นั้นคืออะไรแล้วทำหน้าที่อะไร และส่งผลอย่างไรกับร่างกายเราบ้าง
แอล-คาร์นิทีนคืออะไร
แอลคาร์นิทีน เป็นชื่อของสารตัวหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกายของเราเอง โดยสร้างขึ้นมาจากกรดอะมิโน 2 ตัว คือ ไลซีน (lysine) และเมไทโอนีน (methionine) และ ถูกใช้ไปในหน้าที่ต่างๆ หลายอย่าง เช่น เข้าไปช่วยเพิ่มกระบวนการในการดึงไขมันไปใช้ โดยการขนส่งกรดไขมัน (fatty acid) เข้าไปในศูนย์กลางของการสร้างพลังงานของเซลล์ หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ แอล-คาร์นิทีนช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนกรดไขมันไปเป็นพลังงานนั่นเอง ซึ่งพลังงานที่ได้มาส่วนใหญ่ก็จะถูกใช้สำหรับการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย และเพราะกระบวนการพื้นฐานดังกล่าวของสารชนิดนี้ จึงทำให้สื่อโฆษณานำมาใช้เป็นประเด็นหลักในการสร้างโฆษณาเพื่อให้เห็นว่า “เมื่อกินแอล-คาร์นิทีน แล้วร่างกายเหมือนจะได้ทำงานดึงไขมันไปใช้ตลอดเวลา แม้แต่ในยามหลับ”
โดยปรกติ แอล-คาร์นิทีนนั้นจะถูกสร้างขึ้นภายในตับและไตของเราอยู่แล้ว และจะถูกนำไปเก็บไว้ในกล้ามเนื้อลาย (skeletal muscle) เช่น กล้ามเนื้อตามแขน ขา นอกจากนี้ยังถูกลำเลียงไปเก็บไว้ในหัวใจ สมอง และสเปิร์ม (ทำให้สเปิร์มเคลื่อนที่ได้อย่างเหมาะสม เพราะแอล-คาร์นิทีนจะไปเร่งให้ไมโทคอนเดรียเปลี่ยนไขมันมาเป็นพลังงานนั่นเอง)
แหล่งของคาร์นิทีนที่มีมากพบในเนื้อแดงและผลิตภัณฑ์จากนม คาร์นิทีนจากแหล่งธรรมชาติอื่นๆ ประกอบด้วยถั่วและเมล็ดพืช (เช่น ฟักทอง ทานตะวัน งา) พืชตระกูลถั่วหรือเมล็ดถั่ว (ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ถั่วแขก, ถั่วลิสง) ผัก (อาร์ติโชค, หน่อไม้ฝรั่ง, หัวผักกาดเขียว, บร็อคโคลี่, กะหล่ำดาว, ผักคอลลาร์ด, กระเทียม, ผักกาดเขียวปลี, กระเจี๊ยบมอญ, พาสลี่ย์, คะน้า) ผลไม้ (แอปปริคอท, กล้วย) ธัญพืช ( บัควีท(buckwheat), ข้าวโพด, ลูกเดือย, ข้าวโอ๊ต, รำข้าว, ข้าวไรย์, ข้าวสาลี, รำข้าวสาลี, จมูกข้าวสาลี) และอื่นๆที่เป็นอาหารสุขภาพ (ละอองเกสรดอกไม้, ยีสต์ที่ใช้หมักสุรา, carob)การดูดซึมคาร์นิทีนของร่างกาย การดูดซึมของแอล-คาร์นิทีนจะเกิดขึ้นในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ส่วนแพทย์สามารถให้คาร์นิทีนกับผู้ป่วยได้ทั้งทางเส้นเลือดและโดยการกิน
การขาดแอล-คาร์นิทีนสามารถเกิดได้
คนที่ทานมังสะวิรัติอาจจะเกิดภาวะการขาดแอล-คาร์นิทีนได้ในบางครั้ง เนื่องจากแอล-คาร์นิทีน พบได้ในเนื้อสัตว์ นม และถั่วหมัก หรือในผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมของระบบย่อยอาหาร รวมไปถึงในกรณีที่มีผู้ป่วยที่ขาดแอล-คาร์นิทีน (ซึ่งพบน้อยมาก) ซึ่งอาจจะเกิดจากความผิดปกติของยีน หรือตับ หรือไต หรือกินอาหารที่มีกรดอะมิโนไลซีน และเมไทโอนีนน้อย ก็จะมีอาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ เจ็บหน้าอก เจ็บกล้ามเนื้อ แขนขาล้าอ่อนแรง ความดันเลือดต่ำ และอาจจะมีอาการมึนงงสับสนร่วมด้วย เป็นต้น
แม้ว่า L-carnitine จะขายเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนัก แต่ไม่มีผลการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ที่จะแสดงว่ามันสามารถช่วยลดน้ำหนักได้จริง อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาบางตัวแสดงให้เห็นว่าการทานคาร์นิทีนช่วยลดมวลไขมัน เพิ่มเป็นมวลกล้ามเนื้อ และลดความเมื่อยล้า ผลทั้งหมดนี้อาจเป็นการสนับสนุนให้ลดน้ำหนักได้โดยอ้อม
ตัวอย่าง
การทดลองการใช้ แอล-คาร์นิทีน ในกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการลดน้ำหนัก โดยอ้างอิงจากการค้นคว้าหาข้อมูลของนายแพทย์ปิติ นิยมศิริวนิช พบว่ามีการศึกษาทดลองให้ L-Carnitine ในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีน้ำหนักเกิน 13 คน และเปรียบเทียบกับยาหลอก (ไม่ได้รับ L-Carnitine) 15 คน และให้รับประทานอาหารเหมือนๆ กัน และออกกำลังกายเหมือนกัน ไม่พบความแตกต่างในดัชนีมวลกาย นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอยู่อีกการศึกษาหนึ่งที่นำหญิงอ้วน 36 ราย ให้ L-Carnitine 4 กรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 60 วัน ให้ผลไม่แตกต่างจากเม็ดแป้ง ไม่ว่าจะเป็นผลในเรื่องของน้ำหนักตัวหรือดัชนีมวลกาย แม้แต่การเผาผลาญไขมัน
จากการศึกษาดังกล่าว พบว่า L-Carnitine นั้นมีส่วนช่วยในการลดความอ้วนจริง แต่น้อยมาก แต่ก็ยังมีอีกหลายการศึกษาที่แนะนำให้รับประทานวันละอย่างน้อย 500 มิลลิกรัมต่อวัน จึงจะมีส่วนช่วยในการเผาผลาญไขมันได้ แต่อย่างไรก็ดี L-Carnitine ก็เป็นสารที่ปลอดภัยและมีผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยมาก และให้ประสิทธิภาพสูงสุดหากใช้ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย โดยออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 40-50 นาทีขึ้นไป จึงจะสลายไขมันได้อย่างแท้จริง
จะใช้แอล-คาร์นิทีนต้องระวัง
ใครที่คิดจะซื้อแอล-คาร์นิทีนมาใช้ควรต้องระวังเพราะอาจจะมีผลข้างเคียงต่างๆ เกิดขึ้นกับร่างกายได้ และอาจจะเข้าทำปฏิกิริยากับยาอื่นๆ ที่กินร่วมกัน ดังนั้น ในการใช้แต่ละครั้ง ควรต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์จะปลอดภัยกว่า ถึงแม้ว่าแอล-คาร์นิทีนจะไม่ปรากฏผลข้างเคียงใดๆ ที่เด่นชัดมากนัก แต่ก็มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าถ้ากินเข้าไปมากขนาด 5 กรัม (5000mg.) ต่อวัน หรือมากกว่าอาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ และต้องไม่ลืมว่าเราได้แอล-คาร์นิทีนจากอาหารประเภทเนื้อสัตว์และนมอยู่แล้วด้วย สำหรับคนที่มีอาการแพ้ต่ออาหารโปรตีน เช่น ไข่ นม หรือข้าวสาลี ไม่ควรกินผลิตภัณฑ์ที่เสริมแอล-คาร์นิทีนเป็นอันขาด รวมไปถึงคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับและไต เด็กที่มีอายุยังไม่ถึง 2 ขวบ และสตรีมีครรภ์ ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ ถ้าไม่จำเป็น หรือใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ครับ
ที่มา สถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี (สสวท)
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!