สาย Diet ต้องมอนิเตอร์ให้รู้...ว่าสิ่งที่ทำอยู่ คุณกำลังมาถูกทาง?


สาย Diet ต้องมอนิเตอร์ให้รู้...ว่าสิ่งที่ทำอยู่ คุณกำลังมาถูกทาง?

ปัญหาของผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ส่วนใหญ่มักเกิดจากการกินอาหารที่มีแคลอรีสูงจนร่างกายไม่สามารถเผาผลาญพลังงานได้หมด จึงเกิดเป็นไขมันสะสมที่ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

เมื่อพูดถึงการลดน้ำหนัก ความคิดแรกจึงมักมุ่งไปที่การควบคุมอาหารและการกิน ไม่ว่าจะเป็นการงด ลด เลิก หรือการเลือกชนิดอาหาร รวมถึงการทำตามสูตรไดเอท (Diet) ยอดนิยมต่างๆ ซึ่งการไดเอทด้วยสารพัดสูตรสำเร็จที่กำลังได้รับความนิยมอยู่นั้น อาจแฝงมากับอันตรายที่คอยทำร้ายสุขภาพของคุณโดยไม่รู้ตัว หากไม่มีความเข้าใจถึงข้อปฏิบัติ และสิ่งที่...ควรระวัง!!

3 สูตรลดน้ำหนัก ที่ควรรู้จักให้ดี...ก่อนลอง

1. Ketogenic Diet หรือ สูตรการลดน้ำหนักแบบคีโตเจนิค จะเน้นให้กินอาหารประเภทไขมันถึง 75% แต่กินโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพียง 20% และที่เหลือ 5% ให้กินคาร์โบไฮเดรตจากผักต่างๆ การกินแบบนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการกินแบบ low-carb, high-fat (LCHF) ก็ได้

การลดน้ำหนักด้วยการกินไขมันเป็นหลักนั้น อาจดูขัดแย้งกับพลังงานที่ได้รับ เราจึงต้องคุมปริมาณให้พอเหมาะ ทั้งนี้เมื่อเราจำกัดการกินคาร์โบไฮเดรตจนเหลือเพียง 5% ทำให้ร่างกายจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานอื่นมาใช้ ซึ่งก็คือไขมันที่เราได้รับในปริมาณมากนั่นเอง

เมื่อกินไขมันมากๆ แต่ขาดคาร์โบไฮเดรต ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะคีโตสีส (Ketosis) คือมีการดึงไขมันจากอาหารและจากตับมาเป็นแหล่งพลังงานหลักในการดำรงชีวิต ซึ่งทำให้ไขมันที่สะสมอยู่ตามร่างกายถูกดึงมาใช้ด้วย เหตุนี้เองน้ำหนักตัวจึงลดลงได้ แต่เราต้องไม่ลืมว่าไขมันที่สะสมอยู่ตามร่างกายที่ลดลงนั้น ไม่ได้หมายความว่าไขมันในหลอดเลือดจะลดลงตามด้วยเสมอไป ในทางกลับกัน การกินไขมันในปริมาณมากย่อมเพิ่มโอกาสที่จะเกิดไขมันเลว (HDL) ในหลอดเลือดที่สูงขึ้น อย่างที่เราพบอยู่บ่อยๆ ว่า คนที่มีน้ำหนักตัวน้อยหรือคนผอมที่มีไขมันตามร่างกายน้อยกลับมีไขมันในเลือดสูง ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งจากชนิดอาหารและระบบการทำงานของร่างกายที่แตกต่างกันไปจากพันธุกรรม

นอกจากนี้การที่ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลน้อยเกินไป อาจทำให้การทำงานของอวัยวะและต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนต่างๆ เสียสมดุลจนทำงานผิดปกติ ที่สำคัญคือการลดน้ำหนักด้วยกินคีโตนนั้นไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องฉีดอินซูลิน ผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูงอีกด้วย

2. Atkins Diet หรือ การกินแบบแอตกินส์ เป็นสูตรการลดน้ำหนักของอายุรแพทย์โรคหัวใจ Dr. Robert C. Atkins ที่ได้ทำการวิจัยไว้เมื่อปี 1963 โดยพบว่า การลดน้ำหนักที่ได้ผลดี คือการกินอาหารประเภทโปรตีนให้ได้ 80% และที่เหลืออีก 20% ให้กินไขมันชนิดดี (HDL) กับคาร์โบไฮเดรตจากผักและผลไม้

จริงๆ แล้วการกินแบบแอตกินส์นั้นมีส่วนคล้ายการกินแบบคีโตเจนิค คือเป็นการกินคาร์โบไฮเดรตให้น้อย เพื่อให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะการผลิตอินซูลินน้อยลง ทำให้การสะสมไขมันเป็นไปได้ช้าและเกิดการดึงพลังงานจากไขมันมาใช้มากขึ้น แต่ในกรณีแอตกินส์ไดเอท ร่างกายจะใช้พลังงานจากโปรตีนเป็นหลัก

ข้อเสียของการกินโปรตีนมากถึง 80% อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารประเภทอื่นๆ ประสิทธิภาพในการดูดซึมสารอาหารของลำไส้ลดลง มีภาวะท้องผูกเพราะได้รับไฟเบอร์น้อย จึงต้องระวังโรคที่เกี่ยวกับลำไส้และทวารหนัก อาการปากแห้งและการมีกลิ่นปากด้วย

3. Intermittent Fasting หรือการไดเอทแบบ ไอเอฟ (IF) เป็นสูตรที่สามารถกินได้ทุกอย่าง แต่จะกำหนดช่วงเวลาที่กินได้กับช่วงเวลาที่ต้องอดสลับกันไป เช่น IF 16/8 จะมีช่วงเวลาที่กินได้ 8 ชั่วโมง จากนั้นต้องอดอาหารยาวไป 16 ชั่วโมง โดยในช่วงเวลาที่อด ร่างกายจะเริ่มดึงไขมันมาใช้มากขึ้นจากการขาดพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล

คนที่ทำ IF จะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องสารอาหารไม่สมดุล เพราะยังกินทุกอย่างได้ตามปกติ การอดอาหารนานๆ ในวันแรกๆ อาจส่งผลให้ระดับอินซูลินลดลงจนร่างกายอ่อนล้า สมองทำงานช้าลง และรู้สึกหิวมากในบางที แต่เมื่อทำไปสักระยะหนึ่งร่างกายก็จะปรับตัวและสามารถดึงพลังงานสะสมมาใช้ได้คล่องขึ้น มีการเผาผลาญไขมันที่ดีขึ้น ซึ่งมีการวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า การทำ IF สามารถเพิ่มอัตราการเผาผลาญได้สูงสุดถึง 14% เลยทีเดียว

แม้จะทำได้ไม่ยากและมีข้อดีค่อนข้างมาก แต่ในบางกรณีก็พบว่า การทำ IF อาจเพิ่มความเสี่ยงบางอย่าง เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีปัญหาในการนอนหลับจนทำให้เสียสมดุลฮอร์โมน และสำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำในช่วงแรกๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต ไทรอยด์ ก็ควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน เพราะอาจต้องมีการปรับขนาดยา โดยเฉพาะการฉีดอินซูลินให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการกินและการอด

ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการงด ลด เลิกอาหารบางอย่าง หรือการอดอาหารเป็นมื้อๆ เราอยากให้คุณรู้ว่า การไดเอทที่สุดโต่งเกินไปกับวิธีใดวิธีหนึ่งอาจสร้างปัญหาสุขภาพให้คุณได้ แม้การลดน้ำหนักได้จะส่งผลดีหลายอย่าง แต่หากทำผิดวิธี...หรือคุณมีปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่เดิม ข้อเสียของการลดน้ำหนักอาจมีมากกว่าผลดี การจะรู้ว่าคุณมาถูกทางหรือไม่ยังสามารถทำได้ด้วยการตรวจสุขภาพ เพื่อประเมินและประมวลว่า... คุณจะไปต่อในสายไหนกับการทำให้น้ำหนักตัวลดลงและยังมีสุขภาพดีไปพร้อมๆ กันได้

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์